“พลูคาว” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Houttuynia cordata Thunb เป็นพืชสมุนไพรประจำถิ่นที่พบมากในแถบภาคเหนือของไทย และยังพบในบริเวณเทือกเขาหิมาลัย อินเดีย เรื่อยมาจนถึงจีน เวียดนาม ลาว เกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นพืชตระกูลเดียวกับพลู ชอบขึ้นในพื้นที่ชื้นแฉะ มีร่มเงาเล็กน้อยและสภาพอากาศเย็น โดยจะมีลักษณะแตกต่างจากพลู คือ ที่ใต้ใบของพลูคาวจะ มีสีแดงอ่อนไปจนถึงสีแดงเข้ม ชาวบ้านในเขต ภาคเหนือจะเรียกว่า “ผักคาวตอง” เนื่องจากต้นและใบจะมีกลิ่นคาวรุนแรงคล้ายคาวปลา ซึ่งส่วนใหญ่นิยมนำใบมาเป็นผักเคียงใช้บริโภคสดกับอาหารประเภทลาบหรือหลู้ ส่วนจีนจะใช้พลูคาวในตำรับยาหลักนับเป็นสมุนไพรชั้นสูง
จากข้อสังเกตว่า จำนวนประชากรในภาคเหนือเป็น “โรคมะเร็ง” ค่อนข้างน้อย เนื่องจากบริโภคพลูคาวเป็นประจำ และหมอแผนโบราณเคยใช้พลูคาวมารักษาผู้ป่วยริดสีดวงทวาร ทำให้หายเจ็บปวดโดยไม่ต้องทำการผ่าตัด ทำให้คณะนักวิจัยซึ่ง ประกอบด้วย รศ.มณเฑียร เปสี, ศ.น.พ.พงษ์ศิริ ปรารถนาดี, รศ.น.พ.สุขชาติ เกิดผล, ผศ.ดร.วิจิตร เกิดผล และผศ. ดุษฎี มุสิกโปดก คณะแพทย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยขอนแก่น สนใจที่จะศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการใช้พลูคาวรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
เบื้องต้นคณะนักวิจัยได้นำพลูคาวจากแปลงเกษตรอินทรีย์ที่สวนดอยหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกพลูคาวตามระบบเกษตรอินทรีย์กว่า 30 ไร่ มาวิจัยและทดลองผลิตเป็นยาน้ำสมุนไพรบำรุงร่างกาย โดยผ่านกรรมวิธีการหมักและผสมผสานระหว่างศาสตร์ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมกับเทคโน โลยีชีวภาพ (NanoTechnology) ใช้สมุนไพรพลูคาวเป็นสารตั้งต้น
ขณะเดียวกันคณะนักวิจัยยังได้ทราบข้อเท็จจริงว่า สีแดงที่อยู่ใต้ใบพลูคาวเป็นตัวชี้วัดว่ามีเภสัชสาร ซึ่งเป็นสารเฮลตีแบคทีเรีย มีจุลินทรีย์และแลคโตบาซิลลัสสายพันธุ์หนึ่ง ที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายของมนุษย์ให้ทำงานได้ดีขึ้น ทั้งยังสามารถไปยับยั้งการเจริญเติบโตและต้านทานเนื้องอก (Anti-tumor) และช่วยต้านอนุมูลอิสระในร่างกายได้ค่อนข้างดี
หลังจากที่สกัดเป็นยาน้ำ และผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการจริยธรรมแล้ว ได้นำยามาทดลองในผู้ป่วยมะเร็ง 5 ชนิด คือ มะเร็งปอด มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งปากมดลูก เนื้องอกบริเวณสมอง และเนื้องอกของ Soft tissue sarcoma โดยให้ผู้ป่วยดื่มบำรุงร่างกาย และใช้ร่วมกับการรักษาของคณะแพทย์โดยการฉายรังสี ปรากฏว่า สามารถช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายผู้ป่วยมะเร็งได้ ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้มากขึ้นทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นและยืดอายุของผู้ป่วยได้นานขึ้นด้วย ซึ่งดีกว่าการรักษาด้วยการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว
ในปี 2548 นี้ ได้ส่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปทดลองตลาดในกลุ่มสหภาพยุโรปหรืออียูและสิงคโปร์พบว่าได้รับการตอบรับจากลูกค้าที่เชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยค่อนข้างมาก มีมูลค่าการส่งออกรวมกว่าประมาณ 25 ล้านบาท แบ่งเป็น อียู 15 ล้านบาท สิงคโปร์ประมาณ 10 ล้านบาท สำหรับปี 2549 นี้ ได้ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าส่งออกไว้ ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกหลัก คือ กลุ่มอียู และลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลาม หากใช้รักษาควบคู่กับการฉายรังสีซึ่งเป็นวิธีแพทย์แผนปัจจุบัน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้มากยิ่งขึ้น
จากประสิทธิภาพของพลูคาวที่ผู้ป่วยทั้งในและต่างประเทศเริ่มยอมรับ และเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทำให้ขณะนี้มีคณะแพทย์และเภสัชกรจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เริ่มหันมาสนใจที่จะศึกษาวิจัยสมุนไพรพลูคาวเพิ่มเติม รวมกว่า 10 โครงการวิจัย เพื่อเป็นความหวังและต่ออายุให้กับผู้ป่วยมะเร็งในอนาคต
หากงานวิจัยประสบผลสำเร็จ “พลูคาว” จะกลายเป็นพืชสมุนไพรสร้างชาติได้ในพริบตา ซึ่งเป็นพืชที่น่าจับตามองอีกพืชหนึ่ง
ที่มา: หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์